วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์


ชื่อจริง: เรวัต พุทธินันทน์ ( Rewat Buddhinan)
วันเกิด: 5 กันยายน 2491
ถึงแก่กรรม: 27 ตุลาคม 2539
การศึกษา: ปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาการเงินการธนาคาร มหาวิทยาธรรมศาสตร์
กีฬาที่เล่น: เทนนิส, สนุ้กเกอร์
แนวเพลงโปรด: Modern Jazz, Jazz Rock, Funky
เครื่องดนตรีที่เล่นได้: คีย์บอร์ด, กีตาร์

ประสบการณ์ ด้านดนตรี:

2515 เข้าร่วมเป็นสมาชิกวง ดิ อิมพอสสิเบิ้ล (THE IMPOSSIBLE) ในตำแหน่งร้องนำ และคีย์บอร์ด เดินทางไปแสดงคอนเสิร์ต ที่รัฐฮาวาย
2516-2519 วง ดิ ดิมพอสสิเบิ้ล ตระเวนแสดงคอนเสิร์ต ในประเทศแถบยุโรป สแกนดิเนเวีย เช่น ประเทศสวีเดน,นอร์เวย์ และฟินแลนด์ (ก่อนจะยุบวง ในปี 2520)
2520 ร่วมกับ วินัย พันธุรักษ์ ก่อตั้งวง ดิโอเรียนเต็ล ฟั้งค์ (The Oriental Funk) และรับตำแหน่งนักร้องนำ และซินธีไซเซอร์ เล่นประจำที่โรงแรมมณเฑียร
2525-2526 ทำหน้าที่ผู้ช่วยอัดเสียง ที่ห้องอัดเสียง JBL ก่อตั้งบริษัท อาร์ เอ็น เอ โปรดักชั่น ผลิตงานเพลง และดนตรี เป็นตัวแทนประเทศไทย ร่วมร้องเพลงที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และที่กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
2526 ร่วมก่อตั้งบริษัทแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการฝ่ายผลิต - โปรดิวเซอร์งานเพลงทั้งไทย และสากล ให้กับศิลปินหลายคน เช่น พญ.พันทิวา สินรัชตานนท์ (ศิลปินคนแรกของค่ายแกรมมี่),นันทิดา แก้วบัวสาย, ฐิติมา สุตสุนทร, ธงไชย แมคอินไตย์ เป็นต้น

เรวัต พุทธินันทน์ บุคคลที่ผูกพันธ์อยู่กับดนตรี จนหล่อหลอมแนบสนิทเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นศิลปิน และผู้สร้างสรรค์คนสำคัญ ที่ทำให้วงการเพลงไทยก้าวหน้า

เรวัต พุทธินันทน์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 5 กันยายน 2491 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ นาวาตรีทวี และนางอบเชย พุทธินันทน์ เริ่มการศึกษาที่ โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ สาขาการเงินการธนาคาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เครื่องดนตรีชิ้นแรก ที่เรวัตเริ่มเรียนคือ แซ็กโซโฟน หลังจากนั้นจึงตามมาอีกหลายชิ้น อันเนื่องมาจากใจรักที่ บ่มเพาะอยู่ภายใน และความสามารถพิเศษ ที่เรียกได้ว่าพรสวรรค์ ทำให้เขาไปได้ไกลทางด้านดนตรี ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เรวัตและเพื่อน ได้ตั้งวงดนตรีชื่อ Dark Eyes รับเล่นตามงานสังสรรค์ในหมู่เพื่อนฝูง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวงเป็น Mosrite และได้เข้าประกวดดนตรี ในงานของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในปี 2508 และ2509

เมื่อเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2510 เรวัตได้ร่วมกับเพื่อน ตั้งวงดนตรีชื่อ Yellow Red ซึ่งเพื่อนสนิทสองคน ที่ร่วมวงอยู่ด้วยคือ ดนู ฮันตระกูล และ จิรพรรณ อังศวานนท์ ต่อมาเมื่อ Yello Red สลายตัวไป วง The Thanks จึงเกิดขึ้นมาแทน โดยเรวัต เป็นตัวตั้งตัวตีรวบรวมเพื่อนๆ นักดนตรีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนั้นมี กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา ร่วมอยู่ด้วย The Thanks ออกแสดงตามงานของมหาวิทยาลัย และงานอื่นๆ เสมอ ความเป็นวงดนตรีนำสมัย เล่นและร้องเพลงเต้นรำสมัยใหม่ ทำให้วงนิสิตนักศึกษาอย่าง The Thanks ได้รับความนิยมมากในสมัยนั้น และได้รับการติดต่อ ให้ไปแสดงสลับกับวงดนตรีดังอย่าง สุนทราภรณ์ และ The Impossibles

ต่อมาเมื่อเรียนจบจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรวัตได้รับการติดต่อชักชวนจากวง The Impossible ให้เดินทางไปร่วมแสดงที่ฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในตำแหน่งนักร้องนำ และมือคีย์บอร์ด หลังจากนั้นก็ตระเวนเล่นดนตรี ในประเทศยุโรป สแกนดิเนเวีย และหลังสุดคือ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เรวัตเป็นสมาชิกวงดิ อิมพอสสิเบิ้ลอยู่ 4 ปี หลังจากยุบวงในปี 2520 วินัย พันธุรักษ์ จึงชักชวนเรวัต ตั้งวงดนตรีชื่อ The Oriental Funk ตระเวนเปิดการแสดงในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ในระหว่างนั้น เรวัตก็ได้ศึกษาการเขียนเพลง และดนตรีเพิ่มเติม ก่อนจะกลับมาเล่นประจำที่ คลับคาซาบลังกา โรงแรมมณเฑียร The Oriental Funk ร่วมกันเล่นดนตรีอยู่ประมาณ 4 ปี ก่อนจะถึงจุดอิ่มตัว ที่สมาชิกทุกคนแยกย้ายกันไป ทำงานส่วนตัว เรวัตเริ่มทำงานเบื้องหลัง เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับค่ายเพลง และตั้งบริษัทกับวินัย พันธุรักษ์ ทำงานเพลงโฆษณา เพลงประกอบภาพยนตร์

ด้วยความสามารถ และประสบการณ์ทางด้านดนตรี ที่สั่งสมมาเนิ่นนาน กอรปกับแนวคิด ที่จะพัฒนาวงการเพลงไทย ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ในระดับนานาชาติ เรวัตจึงได้ตัดสินใจร่วมกับไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ก่อตั้งบริษัทแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ขึ้น ในปี 2526 สร้างสรรค์งานเพลง และผลิตศิลปิน ตลอดจนผลักดันวงการดนตรี ที่เคยถูกมองข้าม ให้กลายเป็นอาชีพ และธุรกิจศิลปะที่ได้รับการยอมรับ

นอกจากบทบาทนักบริหาร ที่สามารถผสมผสาน "ศาสตร์" และ "ศิลป์" ไว้ในตัวตนได้อย่างกลมกลืนลงตัว เรวัต พุทธินันทน์ ยังมีหัวใจของศิลปินอย่างเต็มเปี่ยม เป็นผู้สร้างสรรค์งานเพลงไทยแนวใหม่ อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เรวัตได้สร้างสรรค์อัลบั้มคุณภาพ ของเขาเองไว้ 4 อัลบั้มด้วยกัน คือ อัลบั้ม "เต๋อ 1" , "เต๋อ 2" , "เต๋อ 3" และ "ชอบก็บอกชอบ" ว่ากันว่า เนื้อเพลงที่เรวัต พุทธินันทน์ เขียนขึ้นนั้นเป็นมากกว่าเพลง เพราะเปี่ยมไปด้วยแนวคิด ปรัชญา และคุณค่าของชีวิต ทำนองและดนตรี ที่เขาประพันธ์ขึ้นยังร่วมสมัยจนปัจจุบันนี้

บทบาทในฐานะศิลปิน และผู้สรรค์สร้างของเรวัตยังมีอีกหลากหลาย ทั้งในฐานะโปรดิวเซอร์ ผู้ประพันธ์คำร้อง และทำนองเพลงนับร้อยเพลง ผู้สนับสนุน และผลักดันนักร้องและนักดนตรีหลายต่อหลายคน ทั้งเพื่อน พี่และน้อง ให้ก้าวไปบนเส้นทางดนตรี อย่างราบรื่น และมั่นคง ตำแหน่งสุดท้ายของ เรวัต พุทธินันทน์ ในบริษัท คือ ประธานกรรมการบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด มหาชน

เรวัต พุทธินันทน์ สมรสกับ อรุยา (สิทธิประเสริฐ) พุทธินันทน์ ในปี 2517 ทั้งสองรักกัน ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีครอบครัวที่อบอุ่นน่ารัก และมีบุตรสาวด้วยกันสองคน คือ สุทธาสินี (แพ็ท) และ สิดารัศมิ์ (พีช) พุทธินันทน์

เรวัต พุทธินันทน์ จากไปอย่างสงบเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 27 ตุลาคม 2539 ท่ามกลางความอาลัยของครอบครัว คนรอบข้าง เพื่อน พี่ และน้องที่ร่วมเส้นทางชีวิต และเส้นทางสายดนตรี ทว่าผลงานที่ เรวัตได้สร้างสรรค์ไว้ ก็ยังคงอยู่และได้รับการขับขาน ครั้งแล้วครั้งเล่า เจตนารมณ์ที่เรวัตตั้งใจไว้ เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ยังได้รับการสานต่อ

"มูลนิธิเรวัต พุทธินันทน์" จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ และเพื่อสืบทอดความตั้งใจ ของเรวัตที่ต้องการจะส่งเสริม และสนับสนุนให้เยาวชนไทย ได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ในทุกๆ ด้านของดนตรี โดยทางมูลนิธิ ได้ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสร้าง "ห้องสารนิเทศทางดนตรี เรวัต พุทธินันทน์" ขึ้น เพื่อให้บริการความรู้ ด้านดนตรีแก่คนรุ่นหลัง ตามที่ เรวัต พุทธินันทน์ เคยตั้งปณิธานไว้


ผลงานเพลง

ปีxxxx เรวัติ พุทธินันท์ และคีตกวี อัลบั้ม"เรามาร้องเพลงกัน"

ปี2526 เต๋อ1

ปี2528 เต๋อ2

ปี2529 เต๋อ3 ,บันทึกการแสดงสดคอนเสิร์ต"ปึ๊ก"

ปี2530 ชอบก็บอกชอบ

ปีxxxx เพลงประกอบละคร "รักในรอยแค้น"

ปี2549 อัลบัม BELOVED MEMORIES OF REWAT BUDDHNAN


ผลงานอื่นๆ

ละครโทรทัศน์

  • สงครามประสาท
  • ข้าวนอกนา
  • ตุ๊กตาแก้ว
  • วิหคหลงรัง

ภาพยนตร์

  • น้ำพุ
  • เพื่อน

ภาพยนตร์โฆษณา

  • อเมริกันเอ็กซ์เพรส ชุด "PORTRAIT" (รายได้มอบให้กับ มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง เพื่อช่วยเหลือคนพิการทางสมอง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น