วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ดิโอฬารโปรเจ็ค(The Olarn Project)


ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ (The Olarn Project)
ดนตรีที่เล่นเพลงแนวเฮฟวี่เมทัลก่อตั้งปี พ.ศ. 2528
โดยโป่ง)ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ โอ้) โอฬาร พรหมใจ
โดยเปลี่ยนมาจากวงโซดา ซึ่งตั้งใจตั้งชื่อวงว่า " Thailand Band " แต่ โอฬารเห็นว่า อาจจะมีผลเสียต่อประเทศชาติได้ ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น The Olarn Project เพราะหากเกิดอะไรขึ้น โอฬารจะเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตัวเอง


สมาชิกวง
ชุดก่อตั้ง

โอฬาร พรหมใจ (โอ้ - กีตาร์)
ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ (ลูกโป่ง - ร้องนำ)
พิทักษ์ ศรีสังข์ (ทักษ์ - เบส)
ฉัตรพงษ์ นิยมไทย (แตงโม - keyboard/ร้องนำ)
ชนินทร์ แสงคำชู (กุ๋งกิ๋ง - กลอง)


สมาชิกที่เข้ามาชุดที่สอง
ณรงค์ ศิริสารสุนทร (รงค์ - เบส)
Mikael Johansson (กลอง)

สมาชิกที่เข้ามาชุดที่สาม
นุสรณ์ พจน์พิพัฒน์ (ป้อ - Keyboard)
กฤษฎา จงจิตต์ (หนิง - เบส)

สมาชิกที่เข้ามาชุดที่สี่
ฐิติชนม์ พึ่งอาศรัย (บอย - ร้องนำ)
Ruba Mosan (Keyboard)
เอกมันต์ โพธิพันธุ์ทอง (มัน - กลอง)

สมาชิกที่เข้ามาชุดที่ห้า
จักรรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย (ป๊อบ - กีตาร์)
ดำรงสิทธิ์ ศรีนาค (ปิงปอง - กลอง)


ดิ โอฬาร โปรเจ็คท์ ปัจจุบันได้กลายเป็นวงร็อกรุ่นใหญ่ที่สุขุม นุ่มลึก ละเอียด ประพันธ์เพลงได้อย่างไพเราะ กลมกล่อม
วงร็อกระดับตำนานของเมืองไทยอย่าง “ดิโอฬารฯ” ถือกำเนิดมาจากวงดนตรีที่เล่นป็อปร็อก ในนามวง “โซดา” มี สมโชค นวลนิรันดร์ (อาร์ต) ลีดกีตาร์ หัวหน้าวง, บรรจง รัตนโสภณ กลอง/ร้องนำ, ฉัตรพงษ์ นิยมไทย (โม) คีย์บอร์ด/ร้องนำ, ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ (โป่ง) ร้องนำ, โอฬาร พรหมใจ(โอ้) ลีดกีตาร์ และพิทักษ์ ศรีสังข์ (ทักษ์) เบสกีตาร์ ได้ ขุนทอง อสุนี ณ อยุธยา เป็นผู้จัดการวง “เต๋อ” เรวัติ พุทธินันทน์ มิกซ์ดาวน์และควบคุมการผลิต ออกผลงานมาได้เพียงอัลบั้มเดียวชื่อ “คำก้อน” แต่ไม่ประสบความสำเร็จทางการตลาด วงโซดาจึงเงียบหายไปกับสายลม
แต่ทว่า ลูกโป่ง–โอ้-โม และทักษ์ กลับมาฟอร์มวงกันอีกครั้ง ในนามของวง “ดิ โอฬาร โปรเจ็กท์” ภายใต้ชื่ออัลบั้ม “กุมภาพันธ์ 2528” ได้ ชนินทร์ แสงคำชู มาตีกลอง พร้อมกับกำหนดแนวทางดนตรีตามแบบฉบับของดิโอฬารฯ เอง โปรดิวซ์กันเอง แต่งเพลงเอง โดยมี โอฬาร พรหมใจ เป็นหลักในด้านดนตรี ส่วนลูกโป่ง เป็นหัวเรือด้านเนื้อเพลง
ยุคนั้นนับได้ว่า ดิโอฬารฯ เป็นวงร็อกใต้ดินที่เล่นดนตรีได้หนักแน่นสุดๆ แถมมีเพลงบัลลาดร็อกสุดคลาสสิกอย่าง “แทนความห่วงใย” และ “อย่าหยุดยั้ง” ส่งให้วงร็อกหน้าใหม่เข้าไปครองอยู่ในใจขาร็อกทั่วทุกหัวระแหง เป็นวงหน้าใหม่ที่ดังได้ด้วยฝีมือล้วนๆ แทบจะไม่มีการโปรโมท
ทิ้งช่วงไม่นาน ดิโอฬารฯ ปล่อยอัลบั้มที่ 2 ตามมาติดๆ ชื่อ “หูเหล็ก” นักวิจารณ์พากันยกย่องว่าเป็นอัลบั้มร็อกยอดเยี่ยมแห่งปี มีเพลงเด่นๆ อย่าง คนหูเหล็ก, ขอผมสักคืน, เหนือคำบรรยาย และนำเพลง “อย่าหยุดยั้ง” มาทำเป็นเวอร์ชั่น อคูสติก ได้เพราะกินใจคนทั่วเมือง
อัลบั้มนี้มีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกเล็กน้อยคือ ณรงค์ ศิริสารสุนทร มาเล่นเบสแทน พิทักษ์ ศรีสังข์ ส่วนกลองได้ มิคาเอล จอห์นสัน มาตีแทนชนินทร์ แสงคำชู พิทักษ์ ศรีสังข์ กลายมาเป็นเบสรับเชิญในเพลง “เพราะรัก” ออกภายใต้สังกัด ไมล์สโตน เร็คคอร์ดของ มาโนช พุฒตาล แล้วพวกเขาก็เงียบหายไป มาโผล่อีกครั้งในงาน “ไตรภาค” แต่ไม่เต็มวง สรุปว่าวงร็อกชั้นดีอย่าง ดิ โอฬาร โปรเจ็กท์ แตกอย่างชัดเจนเมื่อ ลูกโป่ง ไปฟอร์มวงใหม่ในชื่อ “หินเหล็กไฟ”
ส่วนโอฬาร พรหมใจ ยังมุ่งมั่นทำงานภาคดนตรีที่เขารักต่อ ด้วยการออกโซโลอัลบั้ม “ลิขิตดวงดาว” อัลบั้มนี้ดนตรีเด่นแต่ได้นักร้องด้อยกว่าลูกโป่งที่เข้ากันได้ดีกับดนตรีของโอฬาร ทำให้เป็นเพียงตำนานหน้าหนึ่งของมือกีตาร์ร็อกเท่านั้น
ผิดกับ "หินเหล็กไฟ" ที่พุ่งเข้าหาการตลาดมากขึ้น ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น เมื่อต่างคนต่างมีวิถีทาง เมื่อรวมกันก็ต้องมีแยกเป็นธรรมดา
กระทั่งล่วงเวลาไป 15 ปี ดิ โอฬาร โปรเจ็กท์ ได้กลับมารวมตัวกันทำงานในแบบ “รียูเนียน” เหมือนวงต่างประเทศนิยมกัน เป็นการหวนรำลึกถึงอดีตที่เคยรุ่งเรือง และเรียกได้ว่าเป็นการทำงานทิ้งท้ายให้แฟนพันธุ์แท้สมใจกับที่รอคอย เพราะนอกจากจะนำเพลงเก่าที่เคยโด่งดังในอดีตอย่าง ไฟปรารถนา, เพราะรัก, อย่าหยุดยั้ง, แทนความห่วงใย และเหนือคำบรรยาย มาทำใหม่แล้ว
อัลบั้ม “คลาสสิก” ยังกำนัลเพลงใหม่ให้อีกถึง 6 เพลง
นักดนตรีในยุครียูเนียน ประกอบด้วยแกนนำหลักของวง อย่าง โอฬาร พรหมใจ, พิทักษ์ ศรีสังข์, ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ มี ดำรงสิทธิ์ ศรีนาค ตีกลอง แถมยังมี จักรรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย (ป็อป เดอะซัน) มาเป็นกีตาร์รับเชิญในงานระดับตำนานครั้งนี้ด้วย
เรียกว่าเป็นอัลบั้มที่รวมไปด้วยสุดยอดมือกีตาร์แห่งยุค 2 คน เข้าด้วยกัน อันแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานสไตล์กีตาร์ที่ร้อนแรงเผ็ดร้อนของคนหนุ่มอย่าง ป็อป และกีตาร์ร็อกที่ลุ่มลึกของ โอฬาร ที่สูงวัยและมากประสบการณ์
สังเกตได้ชัดเจน ถ้าเพลงไหนที่ โอฬาร พรหมใจ แต่งทำนองและเรียบเรียง เพลงจะออกมาในฟีลที่ลึก ละเอียด บอกถึงประสบการณ์และวัยวุฒิ ส่วนเพลงที่ป็อบ เดอะซันแต่งอย่างเพลง ขอบคุณ, กำจัดมัน และเงินบนดาวอังคาร สีสันดนตรีจะออกมาในรูปแบบกร้าวแกร่งรุนแรง ดุดัน เมามัน โดยเฉพาะไลน์โซโลกีตาร์และริธึ่ม
เรียกว่า ดิโอฬาร คลาสสิก ชุดนี้ ได้ทั้งความมันและหวาน ครบรส
ถ้าเป็นแฟนโอฬารฯ มาตั้งแต่ยุคต้น ย่อมเห็นพัฒนาการทางดนตรีของสมาชิกทุกคนในวงได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะฝีมือกีตาร์ของ โอฬาร พรหมใจที่เชี่ยวลึกจนมองไม่เห็นความเกรี้ยวกราดดังแต่ก่อน แต่กลับส่งผลดีต่อสำเนียงกีตาร์ของเขา ทำให้เพลงในยุคคลาสสิกนี้มีเสน่ห์น่าหยิบมาฟังได้บ่อยครั้งกว่า
เมื่อครั้งที่อัลบั้มนี้ออกวางแผง คอร็อกรุ่นใหม่แสดงอาการผิดหวังกับงานในรูปแบบ “คลาสสิค” (เอาไว้ลองย้อนกลับไปฟังเมื่อเวลาผ่านไปสักสิบปี ดูซิว่ายังจะยืนยันความคิดเดิมอยู่หรือเปล่า)
สำหรับคอร็อกรุ่นใหญ่ อัลบั้ม “คลาสสิก” คงตอบสนองอารมณ์ร็อกสมวัยได้ครบถ้วน เพราะนี่คืออัลบั้มที่ดีชุดหนึ่งของวงการเพลงไทย


ผลงานเพลงมีอัลบั้ม 5 ชุด
พ.ศ. 2530 - อัลบั้ม "กุมภาพันธ์ 2528 แทนความห่วงใย" ที่มีเพลงอมตะ เช่น อย่าหยุดยั้ง และแทนความห่วงใย
พ.ศ. 2532 - อัลบั้ม "หูเหล็ก"
พ.ศ. 2536 - อัลบั้มพิเศษ "ไตรภาค" (ออกชนกับอัลบั้ม หิน เหล็ก ไฟ ชุดที่ 1)
พ.ศ. 2539 - อัลบั้ม "ลิขิตดวงดาว"
พ.ศ. 2545 - อัลบั้ม "The Olarn Classic"


วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สุรสีห์ อิทธิกุล





ชื่อจริง: สุรสีห์ อิทธิกุล
ชื่อเล่น: อ้อง, อ๋อง


แนวเพลง: ร็อค


อาชีพ: นักร้อง, นักดนตรี, นักแต่งเพลง


เครื่องดนตรี: กีต้าร์ เปียโน ฟลุต


ปี พ.ศ. 2520 - ปัจจุบัน




สุรสีห์ อิทธิกุล เป็นหนึ่งในนักร้อง นักดนตรีชาวไทย ผู้พลิกยุคสมัยแห่งดนตรีของประเทศไทย มาสู่ดนตรีในแนวสากล มีผลงานทางดนตรีอัลบั้มเพลงส่วนตัวมาแล้ว 4 ชุด และเพลงประกอบภาพยนตร์ ละคร หรือ โฆษณาอีกมากมาย




สุรสีห์ อิทธิกุล สำเร็จการศึกษา ทางด้านดนตรีและการเรียบเรียงเสียงประสานจากมหาวิทยาลัยโอเรกอนสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2517 แล้วกลับมารับราชการที่กองดุริยางค์ทหารบก เป็นเวลาสองปี เริ่มเส้นทางดนตรีจากการร่วมงานกับ อ. ดนู ฮันตระกูล ตั้งบริษัทบัตเตอร์ฟลาย และโรงเรียนสอนดนตรี ศศิลิยะ (ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อ เป็นบัตเตอร์ฟลาย) ผลิตงานเพลงออกมา 3 อัลบั้มควบคู่ไปกับการทำเพลงประกอบภาพยนตร์ เรื่อง "วัยระเริง" (นำแสดงโดยอำพล ลำพูน) อยู่ในอัลบั้ม "ยุโรป" โดยมีเรวัติ พุทธินันทน์ เป็นโปรดิวเซอร์ หลังจากนั้น "บัตเตอร์ฟลาย" ได้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ "เงิน เงิน เงิน" เพลงประกอบละครและเพลงประกอบโฆษณาอีกมากมาย




ในปี พ.ศ. 2528 สุรสีห์ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกชื่อ "กัลปาวสาน" ด้วยความทันสมัยของเสียงร้องและเสียงดนตรี การนำเสนอแนวคิดของเนื้อเพลงจากปลายปากกาของ เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ แนวดนตรีซึ่งมีกลิ่นอายของ Jazz และ Progressive และการมิกซ์เสียงที่ต่างไปจากที่มีอยู่ในสมัยนั้น ทำให้อัลบั้มนี้เป็นผลงานที่ยังคงความน่าสนใจจนกระทั่งปัจจุบัน แม้จะไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายนัก



ปี พ.ศ. 2533 มีอัลบั้มชุดที่ 2 "คนดนตรี" เป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเขา มีเพลงเด่นหลายเพลงเช่น "ปราสาททราย" "ต้นไม้" และ "ตะเกียง"



ปี พ.ศ. 2535 มีอัลบั้มชุดที่ 3 "พอดี พอดี" มีเพลงเด่นคือ "พอดี พอดี" "ไกล" และ "ทิ้งฝัน" อัลบั้มนี้ได้เข้ารอบเป็น 1 ใน 5 ศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยมรางวัลสีสัน อะวอร์ด



ปี พ.ศ. 2536 มีอัลบั้มรวมฮิต "รวมจินตนาการของคนดนตรี"



ปี พ.ศ. 2537 มีอัลบั้มพิเศษ เป็นงาน cover เพลงของวง "The Beatles"



หลังจากหายไปจากวงการดนตรีเกือบ 6 ปี ในปี พ.ศ. 2543 เขาก็ได้ออกอัลบั้มที่ 4 ที่ใช้ชื่อว่า "Project Album" เป็นแนว Progressive Rock มีเพลงเด่นคือ "ยอมจำนน" "สายน้ำ" "คุ้มกันไหม" และ "ฅน"




>

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์


ชื่อจริง: เรวัต พุทธินันทน์ ( Rewat Buddhinan)
วันเกิด: 5 กันยายน 2491
ถึงแก่กรรม: 27 ตุลาคม 2539
การศึกษา: ปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาการเงินการธนาคาร มหาวิทยาธรรมศาสตร์
กีฬาที่เล่น: เทนนิส, สนุ้กเกอร์
แนวเพลงโปรด: Modern Jazz, Jazz Rock, Funky
เครื่องดนตรีที่เล่นได้: คีย์บอร์ด, กีตาร์

ประสบการณ์ ด้านดนตรี:

2515 เข้าร่วมเป็นสมาชิกวง ดิ อิมพอสสิเบิ้ล (THE IMPOSSIBLE) ในตำแหน่งร้องนำ และคีย์บอร์ด เดินทางไปแสดงคอนเสิร์ต ที่รัฐฮาวาย
2516-2519 วง ดิ ดิมพอสสิเบิ้ล ตระเวนแสดงคอนเสิร์ต ในประเทศแถบยุโรป สแกนดิเนเวีย เช่น ประเทศสวีเดน,นอร์เวย์ และฟินแลนด์ (ก่อนจะยุบวง ในปี 2520)
2520 ร่วมกับ วินัย พันธุรักษ์ ก่อตั้งวง ดิโอเรียนเต็ล ฟั้งค์ (The Oriental Funk) และรับตำแหน่งนักร้องนำ และซินธีไซเซอร์ เล่นประจำที่โรงแรมมณเฑียร
2525-2526 ทำหน้าที่ผู้ช่วยอัดเสียง ที่ห้องอัดเสียง JBL ก่อตั้งบริษัท อาร์ เอ็น เอ โปรดักชั่น ผลิตงานเพลง และดนตรี เป็นตัวแทนประเทศไทย ร่วมร้องเพลงที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และที่กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
2526 ร่วมก่อตั้งบริษัทแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการฝ่ายผลิต - โปรดิวเซอร์งานเพลงทั้งไทย และสากล ให้กับศิลปินหลายคน เช่น พญ.พันทิวา สินรัชตานนท์ (ศิลปินคนแรกของค่ายแกรมมี่),นันทิดา แก้วบัวสาย, ฐิติมา สุตสุนทร, ธงไชย แมคอินไตย์ เป็นต้น

เรวัต พุทธินันทน์ บุคคลที่ผูกพันธ์อยู่กับดนตรี จนหล่อหลอมแนบสนิทเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นศิลปิน และผู้สร้างสรรค์คนสำคัญ ที่ทำให้วงการเพลงไทยก้าวหน้า

เรวัต พุทธินันทน์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 5 กันยายน 2491 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ นาวาตรีทวี และนางอบเชย พุทธินันทน์ เริ่มการศึกษาที่ โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ สาขาการเงินการธนาคาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เครื่องดนตรีชิ้นแรก ที่เรวัตเริ่มเรียนคือ แซ็กโซโฟน หลังจากนั้นจึงตามมาอีกหลายชิ้น อันเนื่องมาจากใจรักที่ บ่มเพาะอยู่ภายใน และความสามารถพิเศษ ที่เรียกได้ว่าพรสวรรค์ ทำให้เขาไปได้ไกลทางด้านดนตรี ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เรวัตและเพื่อน ได้ตั้งวงดนตรีชื่อ Dark Eyes รับเล่นตามงานสังสรรค์ในหมู่เพื่อนฝูง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวงเป็น Mosrite และได้เข้าประกวดดนตรี ในงานของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในปี 2508 และ2509

เมื่อเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2510 เรวัตได้ร่วมกับเพื่อน ตั้งวงดนตรีชื่อ Yellow Red ซึ่งเพื่อนสนิทสองคน ที่ร่วมวงอยู่ด้วยคือ ดนู ฮันตระกูล และ จิรพรรณ อังศวานนท์ ต่อมาเมื่อ Yello Red สลายตัวไป วง The Thanks จึงเกิดขึ้นมาแทน โดยเรวัต เป็นตัวตั้งตัวตีรวบรวมเพื่อนๆ นักดนตรีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนั้นมี กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา ร่วมอยู่ด้วย The Thanks ออกแสดงตามงานของมหาวิทยาลัย และงานอื่นๆ เสมอ ความเป็นวงดนตรีนำสมัย เล่นและร้องเพลงเต้นรำสมัยใหม่ ทำให้วงนิสิตนักศึกษาอย่าง The Thanks ได้รับความนิยมมากในสมัยนั้น และได้รับการติดต่อ ให้ไปแสดงสลับกับวงดนตรีดังอย่าง สุนทราภรณ์ และ The Impossibles

ต่อมาเมื่อเรียนจบจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรวัตได้รับการติดต่อชักชวนจากวง The Impossible ให้เดินทางไปร่วมแสดงที่ฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในตำแหน่งนักร้องนำ และมือคีย์บอร์ด หลังจากนั้นก็ตระเวนเล่นดนตรี ในประเทศยุโรป สแกนดิเนเวีย และหลังสุดคือ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เรวัตเป็นสมาชิกวงดิ อิมพอสสิเบิ้ลอยู่ 4 ปี หลังจากยุบวงในปี 2520 วินัย พันธุรักษ์ จึงชักชวนเรวัต ตั้งวงดนตรีชื่อ The Oriental Funk ตระเวนเปิดการแสดงในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ในระหว่างนั้น เรวัตก็ได้ศึกษาการเขียนเพลง และดนตรีเพิ่มเติม ก่อนจะกลับมาเล่นประจำที่ คลับคาซาบลังกา โรงแรมมณเฑียร The Oriental Funk ร่วมกันเล่นดนตรีอยู่ประมาณ 4 ปี ก่อนจะถึงจุดอิ่มตัว ที่สมาชิกทุกคนแยกย้ายกันไป ทำงานส่วนตัว เรวัตเริ่มทำงานเบื้องหลัง เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับค่ายเพลง และตั้งบริษัทกับวินัย พันธุรักษ์ ทำงานเพลงโฆษณา เพลงประกอบภาพยนตร์

ด้วยความสามารถ และประสบการณ์ทางด้านดนตรี ที่สั่งสมมาเนิ่นนาน กอรปกับแนวคิด ที่จะพัฒนาวงการเพลงไทย ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ในระดับนานาชาติ เรวัตจึงได้ตัดสินใจร่วมกับไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ก่อตั้งบริษัทแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ขึ้น ในปี 2526 สร้างสรรค์งานเพลง และผลิตศิลปิน ตลอดจนผลักดันวงการดนตรี ที่เคยถูกมองข้าม ให้กลายเป็นอาชีพ และธุรกิจศิลปะที่ได้รับการยอมรับ

นอกจากบทบาทนักบริหาร ที่สามารถผสมผสาน "ศาสตร์" และ "ศิลป์" ไว้ในตัวตนได้อย่างกลมกลืนลงตัว เรวัต พุทธินันทน์ ยังมีหัวใจของศิลปินอย่างเต็มเปี่ยม เป็นผู้สร้างสรรค์งานเพลงไทยแนวใหม่ อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เรวัตได้สร้างสรรค์อัลบั้มคุณภาพ ของเขาเองไว้ 4 อัลบั้มด้วยกัน คือ อัลบั้ม "เต๋อ 1" , "เต๋อ 2" , "เต๋อ 3" และ "ชอบก็บอกชอบ" ว่ากันว่า เนื้อเพลงที่เรวัต พุทธินันทน์ เขียนขึ้นนั้นเป็นมากกว่าเพลง เพราะเปี่ยมไปด้วยแนวคิด ปรัชญา และคุณค่าของชีวิต ทำนองและดนตรี ที่เขาประพันธ์ขึ้นยังร่วมสมัยจนปัจจุบันนี้

บทบาทในฐานะศิลปิน และผู้สรรค์สร้างของเรวัตยังมีอีกหลากหลาย ทั้งในฐานะโปรดิวเซอร์ ผู้ประพันธ์คำร้อง และทำนองเพลงนับร้อยเพลง ผู้สนับสนุน และผลักดันนักร้องและนักดนตรีหลายต่อหลายคน ทั้งเพื่อน พี่และน้อง ให้ก้าวไปบนเส้นทางดนตรี อย่างราบรื่น และมั่นคง ตำแหน่งสุดท้ายของ เรวัต พุทธินันทน์ ในบริษัท คือ ประธานกรรมการบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด มหาชน

เรวัต พุทธินันทน์ สมรสกับ อรุยา (สิทธิประเสริฐ) พุทธินันทน์ ในปี 2517 ทั้งสองรักกัน ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีครอบครัวที่อบอุ่นน่ารัก และมีบุตรสาวด้วยกันสองคน คือ สุทธาสินี (แพ็ท) และ สิดารัศมิ์ (พีช) พุทธินันทน์

เรวัต พุทธินันทน์ จากไปอย่างสงบเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 27 ตุลาคม 2539 ท่ามกลางความอาลัยของครอบครัว คนรอบข้าง เพื่อน พี่ และน้องที่ร่วมเส้นทางชีวิต และเส้นทางสายดนตรี ทว่าผลงานที่ เรวัตได้สร้างสรรค์ไว้ ก็ยังคงอยู่และได้รับการขับขาน ครั้งแล้วครั้งเล่า เจตนารมณ์ที่เรวัตตั้งใจไว้ เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ยังได้รับการสานต่อ

"มูลนิธิเรวัต พุทธินันทน์" จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ และเพื่อสืบทอดความตั้งใจ ของเรวัตที่ต้องการจะส่งเสริม และสนับสนุนให้เยาวชนไทย ได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ในทุกๆ ด้านของดนตรี โดยทางมูลนิธิ ได้ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสร้าง "ห้องสารนิเทศทางดนตรี เรวัต พุทธินันทน์" ขึ้น เพื่อให้บริการความรู้ ด้านดนตรีแก่คนรุ่นหลัง ตามที่ เรวัต พุทธินันทน์ เคยตั้งปณิธานไว้


ผลงานเพลง

ปีxxxx เรวัติ พุทธินันท์ และคีตกวี อัลบั้ม"เรามาร้องเพลงกัน"

ปี2526 เต๋อ1

ปี2528 เต๋อ2

ปี2529 เต๋อ3 ,บันทึกการแสดงสดคอนเสิร์ต"ปึ๊ก"

ปี2530 ชอบก็บอกชอบ

ปีxxxx เพลงประกอบละคร "รักในรอยแค้น"

ปี2549 อัลบัม BELOVED MEMORIES OF REWAT BUDDHNAN


ผลงานอื่นๆ

ละครโทรทัศน์

  • สงครามประสาท
  • ข้าวนอกนา
  • ตุ๊กตาแก้ว
  • วิหคหลงรัง

ภาพยนตร์

  • น้ำพุ
  • เพื่อน

ภาพยนตร์โฆษณา

  • อเมริกันเอ็กซ์เพรส ชุด "PORTRAIT" (รายได้มอบให้กับ มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง เพื่อช่วยเหลือคนพิการทางสมอง)

วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เสก โลโซ


ชื่อจริง : เสกสรร ศุขพิมาย (เสก) Seksan Sookpimay

ตำแหน่ง : กีตาร์, ร้องนำ

วันเกิด : 7 สิงหาคม 2517

ราศี : กรกฎ

แนวเพลงโปรด : Rock, Pop, Blues

ศิลปินที่ชื่นชอบ : Steve Vai, Mariah Carey, Gun 'N' Roses

ความสามารถทางดนตรี : กีต้าร์, คีย์บอร์ด, เปียโน, เบส

ประสบการณ์ทางดนตรี : เล่นดนตรีอาชีพในผับ, ออกเทปในนามของวง LOSO และผลงานเดี่ยวในเวลาต่อมา



เสก เริ่มต้นขึ้นมาจากการรวมตัวเป็นวงดนตรีร๊อก ที่ถือกำเนิดในช่วงดนตรี Alternative ที่ได้รับความนิยมในบ้านเราอย่างสูงเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว มีวงดนตรีแจ้งเกิดขึ้นมาอย่างมากมายนับไม่ถ้วน มีทั้งของจริงและแฟชั่นหล่อหลอมรวมกัน เป็นยุคหนึ่งของวงการเพลงไทย เป็นเวลาที่ให้พวกเขาได้พิสูจน์ ถึงฝีมือและความสามารถทางด้านดนตรีออกมา จนสามารถแจ้งเกิดได้ตั้งแต่อัลบั้มชุดแรก โดยไม่มีองค์ประกอบของรูปร่างหน้าตามาเป็นส่วนเกี่ยวข้องแม้แต่นิดเดียว พวกเขาพกพาดนตรีร็อกมันส์ๆ สื่อสารง่ายๆ เพียงแค่กีต้าร์ ,เบส และกลอง กับเพลงอะคูสติคบัลลาด อย่าง "ไม่ต้องห่วงฉัน" จากอัลบั้ม โล โซไซตี้ คือเพลงที่ ทำให้ความเหนื่อยล้าบนเส้นทางสายดนตรีของพวกเขาหายไป พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งยิ่งใหญ่ และความสำเร็จที่พวกเขาคาดไม่ถึง...



อดีตมันต้องมีที่มา สำหรับวงดนตรีวงนี้ มีชายหนุ่ม 3 คน รวมตัวกันเล่นดนตรีภายใต้ชื่อว่า โลโซ "LOSO" ซึ่งประกอบไปด้วย เสก เสกสรร ศุขพิมาย หนุ่มผู้มีวงดนตรีเพื่อชีวิตอย่าง คาราบาว เป็นฮีโร่ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจถ้างานของเขาจะมีกลิ่นอายของ คาราบาว ผสมอยู่ด้วย เสก มีความเชื่อมั่นในเรื่องของดนตรีว่าเขาจะอยู่กับมันไปตลอด "เรารักในการร้องเพลง ในการเล่นดนตรี เราก็คงทำ ไม่ได้หมายถึงทำธุรกิจ คงไม่ถนัดเท่าไร ผมก็เล่นดนตรีกันต่อไป" ทุกวันนี้เขาเป็นแกนหลักที่วงมิอาจขาดเขาได้ เพราะ เสก คือ นักร้องนำและคนแต่งเพลงทุกเพลงของวงโลโซ ทำให้เพลงของโลโซ กลายเป็นเอกลักษณ์ทั้งใน เสียงร้อง และ เนื้อหา ที่มาจากการแต่งของเสกและเมื่อคนฟังได้ยิน ก็รู้ทันทีว่า นี่แหละคือ โลโซ



คนต่อมา มือกลอง กิตติศักดิ์ โคตรคำ หรือ ใหญ่ ที่ซึมซับกับความรักดนตรีจนหันมาเล่นเป็นอาชีพในที่สุด " มันก็พัฒนาไปตาม.. ก็เหมือนกับ ถ้าน้องชอบเตะฟุตบอลแสดงว่าเราชอบตั้งแต่เด็กล่ะ แล้วก็จะอยากเป็นให้ได้ แล้วพวกเราก็เป็นอย่างนั้นจริง" เขากับเสกก็เป็นนักดนตรี ซึ่งต่างก็มาจากคนละที่คนละทาง แต่เส้นทางของนักดนตรีทำให้เขาได้มาพบกันซึ่งถึงแม้ว่าจะเล่นกันคนละวง จังหวัดจันทบุรีนั้นจึงถือ เป็นการเริ่มต้นทำให้เขาทั้งสองได้รู้จักกัน "เล่นคนละที่นะ แต่ก็พักอยู่ที่เดี่ยวกัน ที่อพาตเมนต์เดียวกัน เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันไป"


คนสุดท้าย คือ รัตน์ อภิรัฐ สุขจิตร์ มือเบส ของวง ที่ไม่ต่างจากสองคนแรก ด้วยใจรักดนตรี ตั้งแต่ยังเด็ก รัตน์เริ่มจับกีต้าร์เป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกตั้งแต่อายุ 15 ขวบ เรื่อยมาจนกระทั่งเรียนจบมหาวิทยาลัย ในสาขาช่างยนต์ จบออกมาทำงานอยู่อู่ซ่อมรถได้ปีกว่าๆ " ทำงานอยู่อู่นี่ประมาณซัก ปีกว่า ๆ เป็นอู่ของรถ โตโยต้าเนี่ย เป็นช่างซ่อมรถยนต์ แต่ว่าไม่ค่อย น่ะครับ ผมมีความรู้สึกว่า มันไม่ไช่ตัวผม อาจจะเรียนมาทางนี้โดยตรงแต่ว่า ดูแล้วมัน ..." วันหนึ่งมีเพื่อนที่ชื่อ กอล์ฟ ได้มาหาที่อู่ มาชวนไปเล่นดนตรี (สำหรับเพื่อนคนนี้นั้นปัจจุบันเขาเป็นมือเบส ของวง Y Not 7 นั่นเอง) " กอล์ฟ นี่เขาเรียนอยู่ช่างศิลป เขาจะมาซ้อมดนตรีที่ มหาลัยสยาม ก็เป็นเพื่อนกัน คลุกคลีกันมาตลอด แล้วก็มาทำวง วงแรก" เขาทั้งสองคนเริ่มต้น ใช้ชื่อวงว่า" โฟกัส" ซึ่งสมาชิกก็มี กอล์ฟ (ตอนนั้นเล่นกีต้าร์) รัตน์ เล่นเบส และก็เจ้า บ็อกซ์ ไฟฟ้า 1 ตัว ทั้งสามเริ่มรับจ้างเล่นตามผับเป็นจริงเป็นจัง เริ่มจากหน้ารามจากนั้นก็ผจญภัยไปตามทางนักดนตรีอาชีพ เปลี่ยนที่ไปเรื่อยเป็นเวลา 3 ปีกว่า ที่รัตน์และ กอล์ฟ ได้ร่วมงานกัน จนถึงวันที่ต้องจบลง เมื่อกอล์ฟ ออกไปทำวง Y Not 7 ส่วน รัตน์ เดินทางสู่จังหวัดจันทบุรี ที่เขาได้พบกับเสกและใหญ่ที่นี่



เมื่อ คนสามคน มาจากต่างที่กัน แต่มีความรักในสิ่งเดียวกัน นั่นก็คือ เรื่องของดนตรี ทำให้เดินทางมาพบกันโดนมิได้นัดหมายที่จังหวัดจันทบุรี ถ้าจะเริ่มเรื่องราวของวงโลโซ จังหวัดจันทบุรี คือที่แรกที่จะบอกความเป็นมาได้ แม้ว่าจะอยู่กันคนละวง เล่นกันคนละที่ พวกเขาก็เจอกันทุกวันเพราะว่าอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์เดียวกัน ตอนนั้น ทั้งสามก็คือเพื่อนร่วมอาชีพ ที่มักจะใช้เวลาหลังเลิกงานพูดคุยแลกเปลี่ยน สิ่งต่างๆ ซึ่งกัน แต่เวลาผ่านไปเรื่อยๆ แต่ละคนก็ต่างคนต่างไป เริ่มเดินทางแยกย้ายกันอีกครั้ง เสกและใหญ่ ไปเล่นดนตรีด้วยกัน ที่จังหวัดนครสวรรค์ ในขณะที่รัตน์ ก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ที่จันทบุรีต่อไป อาชีพนักดนตรีดูเหมือนจะไม่สามารถอยู่ประจำได้นานเท่าไรนัก



หนึ่งปีต่อมาก็ถึงเวลาของรัตน์บ้างแล้ว เขาหมดสัญญาการเล่นดนตรีที่จันทบุรี และได้ย้ายขึ้นเหนือสู่จังหวัดลำปาง เพื่อความต่อเนื่องในอาชีพนักดนตรีต่อไป และการเดินทางมาที่นี่ เขาได้พบกับเสกอีกครั้ง อนาคตในการเล่นดนตรีร่วมกันของเขาทั้งสามจึงมีความเป็นไปได้มากขึ้น " จุดสำคัญเลยที่ลำปาง เสกเขาทำวงขึ้นมาใหม่ ตอนแรกเขาเล่นอยู่นครสวรรค์ แล้วเขาก็ขึ้นมาเล่นที่ลำปาง คือเล่นอยู่ผับ เบตง ใกล้ๆ กับผมเหละ ได้เจอกัน เขาบอก เขามีบ้านพัก เป็นบ้านหลังใหญ่ อยู่หลังหนึ่ง เขาก็บอก "พี่รัตน์ไปอยู่กับผมดีกว่า มีห้องอยู่ ว่างอยู่ห้องหนึ่ง " ผมก็ไปอยู่กับเขา แต่เล่นคนละวงนะ เสกเขาอยู่วงเดียวกับใหญ่" บ้านหลังนี้ เปรียบเสมือนครอบครัวใหญ่ ที่มีแต่นักดนตรีอาศัยอยู่ " เราคุยกันเรื่องดนตรี คุยกันเรื่องสนุกสนานกัน ถูกคอกัน แล้วช่วงนั้นก็มีวงนากาอยู่ด้วย พวกตาโจ้ พวกไอ้แปด ผม อยู่คลุกคลีด้วยกันหมด บ้านหลังเดียวกันพูดง่ายๆ" ความสนิทสนม รู้ใจกัน ในเรื่องของดนตรีและนิสัยส่วนตัว ทำให้ความคิดที่จะเล่นดนตรีด้วยกันจึงเกิดขึ้น "พี่รัตน์ เฮ้ย เราน่าจะมาทำเพลงด้วยกันซักชุดนะ" รัตน์ ยังจำได้กับประโยคนี้ เมื่อเสก ชวนเขาในเช้าวันหนึ่ง แต่ความรู้สึกของเขาตอนนั้นยังไม่ได้ตอบรับในทันที "เฮ้ย จะเป็นไปได้หรือวะจะทำวง นี่ ผมก็คิดในใจว่าจะเป็นไปได้หรือวะ"



หลังจากที่สัญญาในการเล่นดนตรีที่จังหวัดลำปางหมดลง พร้อมกัน ทั้งสามก็ตัดสินใจเดินทางมากรุงเทพฯ โดยมีเงินติดตัวมาไม่กี่บาท ด้วยหวังจะมาหาอนาคต และความสำเร็จที่นี่ แต่มันก็ไม่เป็นดังหวัง ใน 2-3 เดือนแรก พวกเขาหางานไม่ได้ จึงแยกย้ายกันอีกครั้ง ด้วยเหตุเพราะเงินที่ติดตัวมาเริ่มหมดลง " ผมกับเสกและใหญ่ ลงมากรุงเทพ ฯ และก็ไม่มีงาน ต่างคนต่างเคว้งคว้างอยู่ เสกเขามาพักอยู่บ้านผมที่กรุงเทพ อยู่ด้วยกันประมาณซักเดือนหนึ่ง เพื่อนเสกมาบอก ให้เสกมาเล่นกีต้าร์ให้หน่อย เสกก็ไปเล่นกับเพื่อนอีกที่หนึ่ง ใหญ่ก็ไปเล่นเป็นแบ็คอัพให้กับมิคกี้" เมื่อต่างคนต่างไปคนละทางตามภาวะจำยอม และ รัตน์ ก็ต้องเดินทางออกจากกรุงเทพฯ อีกครั้ง สู่อรัญ ไปเล่นอยู่กับ กอล์ฟ อีกครั้ง จนเมื่ออะไรต่างๆ เริ่มดีขึ้น สิ่งที่พวกเขาเคยคิดไว้ด้วยกัน จึงถูกดึงกลับมาอีกครั้งหนึ่ง... หนึ่งปีที่ผ่านไป ในขณะที่ทุกอย่างพร้อมแล้ว เสกมีเพลงที่แต่งไว้ ใหญ่ก็พร้อม รัตน์ก็ถูกชวนกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อร่วมกันทำเพลงอีก ในที่สุดจึงได้เดโมออกมาหนึ่งชุด ซึ่งถือเป็นสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดของพวกเขาในตอนนั้น และใครเลยจะรู้ ว่าเดโมชุดนี้จะกลายเป็นเงินล้านสำหรับพวกเขา เมื่อมันถูกนำมาทำเป็นอัลบั้มออกสู่คนฟังทั่วไป ทีนี้เหลือแต่การเดินเข้าหาค่ายเทป ซึ่งพวกเขายังไม่รู้ว่าจะไปเสนอใครเหมือนกัน ในระหว่างนั้น ก็ไปเล่นเป็น แบ็กอัพ ให้กับ แท่ง ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง ตอนที่แท่ง ออกอัลบั้มเพลงออกมา เป็นการกระเถิบเข้ามาใกล้ความจริงของพวกเขาเข้าไปทุกทีกับค่ายเทป และในที่สุด ทั้งสามคนจึงได้นำเพลงของตัวเองเสนอยังค่ายเพลงที่เพิ่งเปิดใหม่ ตามคำแนะนำของ แท่ง ค่ายเพลงที่นำโดย นักดนตรีที่เป็นขวัญใจของพวกเขาทั้งสามคน นั่นคือ มอร์ มิวสิค ของ อัสนี โชติกุล " ศักดิ์สิทธิ์ ก็แนะนำว่า บริษัท มอร์ มิวสิก นี่เปิดโดย พี่ป้อม ซึ่งเป็นคนที่เราชอบอยู่แล้ว เราก็เอาเดโมที่เราทำ มาเสนอที่ค่ายมอร์ มิวสิค พี่ป้อม เขาชอบก็เลยได้ออกชุดแรก" เสก บอก


ในที่สุดวงดนตรีร็อกวงใหม่ ภายใต้ชื่อ โลโซ ในนิยามของความเรียบง่าย สบายๆ เสื้อยืดกางเกงยีนส์ ที่เสกเป็นคนคิดขึ้นมา และ รัตน์บอกว่า เสกคิดถูกแล้วที่ตั้งชื่อวงว่า โลโซ เพราะว่าเหมาะกับเขาทั้งสามมาก อัลบั้มแรกของ โลโซ ชื่อ โลโซไซตี้ เมื่อปี 2539 เรียกว่ามาได้ถูกจังหวะพอดี เมื่อช่วงนั้นกระแสดนตรี เปลี่ยนจาก bubble gum เข้ามาสู่ยุคของดนตรีร็อก ที่เน้น performance มากกว่ารูปร่างหน้าตา นั่นทำให้ โลโซ ได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ เพลงของพวกเขาเป็นเพลงร็อกแอนด์โรล มันส์ๆ และฟังง่าย มีเมโลดี้ที่ติดหู เข้ากลุ่มคนฟังเพลงส่วนใหญ่ ทำให้ชื่อเสียงและความสำเร็จ ทั้งเงินและกล่อง พุ่งเข้ามายังพวกเขาจนแทบตั้งตัวไม่ทัน "ผมดีใจนะครับ พวกเราดีใจ และช่วงนั้นเป็นช่วงที่เค้าต้อนรับ คนที่มีครีเอท มีฝีมือ" ไม่ต้องห่วงฉัน คือเพลงที่แสดงความเรียบง่ายและโรแมนติก โดยใจวัยรุ่น ดังที่สุดของพวกเขา และน่าจะกลายเป็นเรื่องความสำเร็จยังตามติดตัวพวกเขาอยู่ตลอดไม่หนีไปไหน สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าอัลบั้มแรกของ โลโซ ประสบความสำเร็จจริง คือการที่ พวกเขาส่งเพลงพิเศษใส่เพิ่มเข้าไปในอัลบั้ม ซึ่งเหมือนกับเป็นวัฒนธรรมในวงการดนตรีไทยเลยก็ว่าได้ เมื่ออัลบั้มขายดีการเพิ่มเพลง เปลี่ยนปกก็จะเกิดขึ้น



ต้นปี 2540 พวกเขาก็กลับมาอีกครั้ง กับอัลบั้มพิเศษ อัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง จักรยานสีแดง แม้จะเป็นอัลบั้มเฉพาะกิจ แต่ก็ยังทำได้ดีในเรื่องความนิยม เสกได้สร้างเอกลักษณ์ในเรื่องน้ำเสียงและเนื้อหาของเพลงที่เป็นแบบฉบับของ โลโซ ขึ้นมา ตอนนี้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปแล้ว " เราก็ต้องยอมรับว่า ถ้าเรากลายเป็นคนดัง ความเป็นส่วนตัวก็น้อยลง เพราะว่านี่เเหล่ะ ทุกคนก็ชื่นชอบ แล้วเราก็กลายเป็นคนของประชาชน คือการใช้ชีวิตของเราก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ สำหรับคนที่อยากจะเป็นนักร้อง อยากจะเป็นดารา เป็นคนของประชาชน ความเป็นส่วนตัวก็ต้องลดน้อยลง"



ผ่านไปอีกหนึ่งปี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2541 อัลบั้ม โลโซ เอ็นเตอร์เทนเม้น เป็นงานชุดที่ 3 ก็ออกมาสู่คนฟังอีกครั้ง เพลง ซมซาน,อะไรก็ยอม,เลิกแล้วต่อกัน และอีกหลายๆ เพลง บางคนอาจมองว่างานพวกเขายังคงเหมือนเดิม แต่ก็ไม่มีอะไรหยุดความแรงยอดขายอัลบั้มชุดนี้ได้ พอปลายปี 2541 เวลาสำหรับอัลบั้ม รวมเพลงของพวกเขาก็ออกมา ชื่อว่า Best of LOSO เป็นงานรวมเพลงตั้งแต่อัลบั้มชุดแรก,อัลบั้มพิเศษ และ โลโซ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และหลังจากนี้ความเปลี่ยนแปลง ภายในวงโลโซ เริ่มเกิดขึ้น มีข่าวลือต่างๆ มากมาย เมื่ออัลบั้มชุดต่อมาของ โลโซ ไม่มี รัตน์ เพราะรัตน์ต้องขอพักเนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ แต่วงโลโซต้องเดินหน้าต่อ อัลบั้มชุดที่สี่ จึงออกวางเมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2542 ชื่อว่า ร็อก แอนด์ โรล โดยมีคนที่เข้ามาแทน การทำงานในตำแหน่งเบสของรัตน์นั้น คือ กลาง ณัฐพล สุนทราณู ซึ่ง ก็เป็นเพื่อนๆกัน อัลบั้มนี้โลโซดึงเอาความเป็นอเมริกันร็อกเข้ามาเพิ่มสีสันทางอารมณ์ดนตรี เข้าไป แต่ยังคงความเป็นร็อกไทยแบบโลโซไว้ เช่นเดิม พวกเขามีงานมากขึ้น



การทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศ ทำโลโซได้ใกล้ชิดกับแฟนเพลงมากขึ้น จากนั้นอีกหนึ่งปีกว่าๆ โลโซ จึงกลับมาอีกครั้ง ด้วยอัลบั้มชุดใหม่ที่มีชื่อว่า โลโซ แลนด์ ตอนนี้พวกเขาสามารถขยายขอบเขตทางดนตรีให้กว้างมากขึ้น ตั้งแต่งานชุดแรกยังเป็นเพียงแค่ โลโซไซตี้ เป็นสังคมเล็ก ๆ กลุ่มคนเล็กๆ อัลบั้มชุดนี้เพิ่งจะออกไปเมื่อต้นปี 2544 นี้เอง ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ตอนนี้พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาที่นักร้องและศิลปินทุกคนต้องเผชิญ นั่นก็คือการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง ซึ่งพวกเขาได้รับผลกระทบพอสมควร และแม้ว่าอัลบั้มชุดนี้จะไม่แรงเท่าชุดก่อนๆ ในเรื่องยอดขาย มันก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาคิดท้อหรือจะเลิกทำงานเพลงเลย ไฟทางดนตรียังคงมีอยู่อย่างเต็มที่ " ผมคิดว่าทุกคนจะต้องมีอุปสรรคครับ อยู่เพียงว่าเราจะต่อสู้กับมันได้ยังไง แล้วเราก็จะคงความมั่นคง กับสิ่งที่เรามุ่งไปอย่างไร นั่นคือสิ่งสำคัญกว่า สำคัญกว่า การที่เราว่า ไอ้ตรงนี้มันเป็นอุปสรรค อันนี้ไม่เป็นอุปสรรค ทุกคนเจออุปสรรคแน่นอน ไม่ว่าจะงานอะไร เพียงแต่ว่า จุดมุ่งหมายของเรา เรามั่นคงกับมันแค่ไหน ไม่ใช่พอจะมุ่งไปทางนี้เนี่ย ตรงนี้มีอุปสรรคสะพานหัก เราก็ ย้ายมานี่ก็ตรงนี้ไม่แน่ อาจจะเจอถนนที่ขาด หรือว่าอะไรเงี้ย ฉะนั้น ก็จะเดินไปไม่ถึงซักที เพราะฉะนั้น เราต้องมุ่งไปทางนี้ สะพานขาดเราก็ต้องว่ายนำข้ามไปอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นต้องมั่นคง และก็มุ่งตรงไป ทุกคนมีปัญหาหมด ทุกงานมีปัญหาหมด" สิ่งที่ยืนยันคำพูดของเสกได้ดี คือ อัลบั้ม โลโซปกแดง อัลบั้มชุดที่ 7 ของพวกเขาออกมา ทั้งๆที่ โลโซ แลนด์ ยังไม่ทันจาง พร้อมกับเซอร์ไพรส์การกลับมาอีกครั้งของรัตน์ " เราติดต่อกันตลอด ไม่โทรศัพท์ ก็มาหากันตลอด คือเราสามคนรู้ดี มาหากันตลอด บางทีก็โทรมา เฮ้ย รัตน์อยู่ไหนวะ อยู่บ้าน บางทีก็มาหาเลย" มิตรภาพของทั้งสาม ยังมีอยู่อย่างเข้มข้น การติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้เหตุการณ์ในอดีตที่ลำปางย้อนกลับมาฉายซ้ำอีกครั้ง เสกเอ่ยชวนรัตน์มาทำเพลงกันอีก และอัลบั้มชุดนี้จึงเกิดขึ้น พร้อมกับความตั้งใจที่จะสร้างความใหม่ๆ และเพิ่มสีสันในดนตรีแบบของโลโซเข้าไป



ต่อมาในปี 2546 แฟนเพลงของโลโซก็ถึงกับใจหาย เมื่อ เสก ประกาศหยุดพักวงชั่วคราว เพื่อไปประเทศอังกฤษ และเรียนภาษาและดนตรีเพิ่มเติม หลังจากนั้นกลับมารับโฆษณาเครื่องดื่มบำรุงกำลังและ ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรก และ กลับไปลอนดอนอีกครั้ง เรียนเรียบเรียงเสียงประสานที่โรงเรียน Hampstend


ปัจจุบัน เสก ได้ทำอัลบั้มเดี่ยว ชื่ออัลบั้มว่า SEK LOSO ชุดที่12 ในงานชุดนี้น่าจะบ่งบอกถึงความเป็นเสกได้ชัดเจนหลังจากที่ห่างหาย ไปจากชุดที่แล้วเป็นเวลา 2 ปีกว่าการกลับมาวันนี้งานเพลงของเสกเข้มข้นขึ้นทั้งด้านเนื้อหาและดนตรีที่ พัฒนาขึ้นไปอีก ด้วยความที่ได้ออกไปสัมผัสกับการแสดงสดเดินสายโชว์ทั้งในประเทศและต่าง ประเทศ ทำให้ได้แง่มุมในการใช้ชีวิตและได้นำเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาเขียนเพลงซึ่ง ในชุดนี้มีถึง12 เพลง นับว่าเป็นความพิเศษของอัลบั้มและเป็นงานที่บ่งบอกถึงตัวตนที่หน้าติดตาม อย่างยิ่ง สำหรับคอเพลงของเสกที่เฝ้ารอ รับรองไม่มีผิดหวังอย่างแน่นอน ซึ่งตอนนี้ปล่อยออกมา 2 ซิงเกิลที่โดนใจแฟน ที่คิดถึง เสก โลโซ อย่างเพลง ไม่ยอมตัดใจ และ เจ็บหัวใจ


ผลงานที่ผ่านมาของเสกโลโซ


ปี 2539LOSO / ALBUM: LO-SOCIETY (เมษายน.2539)

ปี 2440 LOSO / ALBUM: SPEACIAL ประกอบภาพยนตร์จักยานสีแดง (มีนาคม 2540)

ปี 2541 LOSO / ALBUM: LOSO ENTERTAINMENT (มีนาคม 2541)

ปี 2541 LOSO / ALBUM: BEST OF LOSO (ธันวาคม 2541)

ปี 2542 LOSO / ALBUM: LOSO ROCK&ROLL (ตุลาคม 2542)

ปี 2544 LOSO / ALBUM: LOSO LAND (กุมพาพันธ์ 2544)

ปี 2544 LOSO / ALBUM: LOSO ปกแดง (สิงหาคม 2544)

ปี 2546 เสกโลโซ SOLO / ALBUM: เดี่ยวชุดแรก (เมษายน 2546)

ปี 2547 ALBUM: เบิร์ดซน เบิร์ดเสก (พฤษภาคม 2547)

ปี 2548 SEK LOSO / THE COLLECTION (มิถุนายน 2548)

ปี 2549 เสกโลโซ Black & White (กรกฏาคม 2549)

ปี 2552 เสกโลโซ / ALBUM: SEK LOSO ชุดที่12.พิเศษ12เพลง (พฤษภาคม 2552)